- name
-
ซอร์ฟ พาวเวอร์ (Soft Power)
- Content
-
เป็นแนวคิดที่ได้รับการพัฒนาโดย Joseph S. Nye ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์จาก The John F. Kennedy School of Government at Harvard University ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ในรัฐบาลของ Bill Clinton
Nye อธิบายว่า ปกติเรามักจะเข้าใจว่า “อำนาจ” (Power) หมายถึงความสามารถในการทำให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการ เช่น การใช้อำนาจทางการทหาร การใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ หรือการออกกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ทั้งแบบไม้แข็งและไม้นวม เพื่อให้คนกลุ่มอื่น ท้องถิ่นอื่น ตลอดจนรัฐอื่น ยอมรับและปฏิบัติตามในสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจต้องการ อำนาจเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ Nye เรียกกว่า Heard Power ซึ่งแตกต่างกับอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งคือ Soft Power อันหมายถึงอำนาจที่จะทำให้คนกลุ่มอื่น ท้องถิ่นอื่น ตลอดจนรัฐอื่น ยินยอมน้อมรับสิ่งที่เสนอไปโดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการบังคับ หรือมีข้อแลกเปลี่ยนแต่ประการใด กล่าวได้อีกอย่างคือเป็นความสามารถในการทำให้ผู้อื่นพึงพอใจที่จะรับและเลือกที่จะทำจากความต้องการและความพึงพอใจของเขาเอง
Nye อธิบายว่า Soft Power ประกอบไปด้วยทรัพยากรสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
- วัฒนธรรม (Culture) หากวัฒนธรรมของพื้นที่หนึ่ง มีความสอดคล้องกับผลประโยชน์ ค่านิยม และวัฒนธรรมของพื้นที่อื่น ๆ ก็มีโอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น Soft Power ของพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งช่องทางที่จะทำให้วัฒนธรรมของพื้นที่หนึ่งเป็นที่รู้จักในพื้นที่อื่น ๆ มีมากมายหลายวิธี เช่น การค้า การแลกเปลี่ยน การติดต่อสื่อสาร การโฆษณา การนำเข้าไปผ่านการเยี่ยมเยือน
- ค่านิยม (Values) หากพื้นที่หนึ่งมีค่านิยมทางวัฒนธรรมบางอย่างสอดคล้องกับอีกพื้นที่หนึ่ง Soft Power ของพื้นที่เหล่านั้นจะกลืนเข้าหากัน และส่งผลถึงกันได้ง่ายและชัดเจน ทั้งยังจะส่งอิทธิพลต่อการผสานรวมวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น ค่านิยมวัฒนธรรมอาหารของชาวเกาหลีที่นิยมรับประทานอาหารชนิดเส้น (รามยอน) ส่งผลให้ชาวไทยที่ชอบรับประทานขนมจีนหรือก๋วยเตี๋ยวรับวัฒนธรรมการรับประทานรามยอนมาโดยดุษฎี
- นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy) ถ้าประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายที่หน้าไหว้หลังหลอก ก้าวร้าว และไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่น ๆ โอกาสที่จะสร้าง Soft Power จะมีน้อย ดังเช่นกรณีของสหรัฐอเมริกาที่บุกยึดอิรักใน ค.ศ. 2003 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประเทศอื่น ๆ เป็นต้น แต่ถ้าประเทศดังกล่าวมีแนวนโยบายต่างประเทศที่รักสันติภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน โอกาสที่จะสร้าง Soft Power ให้เกิดขึ้นจะมีมาก
ในกรณีของสหรัฐอเมริกาจะเห็นได้ว่ามีทรัพยากรเชิง Soft Power ที่เข้มแข็ง อาทิ วัฒนธรรมที่เสนอผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด ค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการค้าเสรี เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว นิยามอย่างกว้างของ Soft Power ก็คืออำนาจโดยปราศจากกำลังทางทหาร (Non-military power) ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางวัฒนธรรม ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่หากนิยามความหมายให้แคบลง Soft Power ก็คืออิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความนิยมชมชอบ มุมมอง แนวคิดของผู้คน และมีส่วนดึงดูดให้ผู้คนเหล่านั้นรู้สึกมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมของอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมี Soft Power ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งกระทำได้หลายวิธี เช่น การผลิตอุตสาหกรรม K-Pop ของเกาหลี การผลิตภาพยนตร์ และซีรีส์ที่โดดเด่นจนกลายเป็นกระแส Korean wave หรือการญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นในเรื่องแอนิเมชัน รายการทีวี ภาพยนตร์ เพลงป๊อบ และแฟชั่น เป็นต้น (ชำนาญ จันทร์เรือง, 2021)
แต่กว่าที่วัฒนธรรมต่าง ๆ จะกลายเป็น Soft Power ที่ทรงอิทธิพลได้อย่างทุกวันนี้ ทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นต่างก็ได้รับแรงสนับสนุนจากทางภาครัฐอย่างมหาศาล เป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันอย่างจริงจัง ทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างประโคมทุนให้กับการผลิตสร้างอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างรวดเร็วและรุนแรง อีกทั้งฝ่ายผู้ผลิตวัฒนธรรมก็ตีโจทย์แตกว่าจะนำทุนทางวัฒนธรรมของตนที่มีอยู่มาต่อยอดอย่างไรให้ถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกชาติ วัฒนธรรมเอเชียของทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว รุ่งเรือง และยาวนาน ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี ทั้งยังมีการบริการที่ดี เพราะทุกอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่ผลิตออกมาสามารถเข้าถึงผู้คนได้ทั่วทุกมุมโลก วง K-Pop ออกทัวร์คอนเสิร์ตได้ทุกทวีป การ์ตูนญี่ปุ่นเข้าถึงจิตใจผู้คนได้ทุกวัย และดูได้ง่ายจากหน้าจอโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ จึงง่ายต่อการถ่ายทอดวัฒนธรรมข้ามเชื้อชาติ และสิ่งเหล่านี้คือ Soft Power ที่เห็นผลจริง เข้าถึงง่าย ได้ประโยชน์ไว ได้กำไรนาน