ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มชาติพันธุ์
Content

พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาให้ความหมายคำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” (ethnos) ว่า กลุ่มที่มีพันธะเกี่ยวข้องกัน และที่แสดงเอกลักษณ์ออกมา โดยการผูกพันลักษณาการของเชื้อชาติ และสัญชาติเข้าด้วยกัน หากจะใช้ให้ถูกต้อง จะใช้กับกลุ่มที่มีพันธะทางเชื้อชาติและทางวัฒนธรรมประสานกันจนสมาชิดของกลุ่มเองไม่รู้สึกถึงพันธะของทั้งสองนี้ และคนภายนอกที่ไม่มีความเชี่ยวชาญจะไม่แลเห็นถึงความแตกต่างกัน

ขยายความได้ว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” คือกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูดเดียวกัน และมีความเกี่ยวเนื่องกันทางเชื้อชาติ โดยเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง จีน ลาว เป็นต้น ซึ่งบรรพบุรุษในที่นี้หมายถึงบรรพบุรุษทางสายเลือดซึ่งมีลักษณะทางชีวภาพเหมือนกัน ตลอดจนมีบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมร่วมกันด้วย กล่าวคือ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันมักมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดและ/หรือทางวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งบางครั้ง คนไทยโดยส่วนใหญ่มักใช้คำว่า“เชื้อชาติ” หรือ “ชนเผ่า” ในการพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ 

ในแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย มักใช้คำว่ากลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเรียกชนกลุ่มน้อยที่ด้อยอำนาจกว่าในทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ทั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน จนกล่าวได้ว่าทุกคนในประเทศไทยต่างก็มีความเป็นชาติพันธุ์ที่หลากหลายอยู่ในตัวทั้งสิ้น

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันมักมีความรู้สึกผูกพันกัน เพราะมีความเป็นมาร่วมกันทั้งทางชีวภาพ ทางวัฒนธรรม และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตนร่วมกัน ส่งผลให้เกิดสำนึกร่วมกันอย่างเหนียวแน่น ส่วนมากจะตระหนักถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนเองเป็นอย่างยิ่ง

ในความเข้าใจโดยทั่วไปมักกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะกลุ่มชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมต่างไปจากภาษาใหญ่และภาษาราชการ นักภาษาศาสตร์ใช้ทฤษฎีทางภาษาจำแนกกลุ่มชนต่าง ๆ จากลักษณะทางเสียงและโครงสร้างภาษาที่คนในกลุ่มใช้พูด และเรียกชื่อภาษาด้วยคำที่เขาใช้เรียกตนเอง หรือคำที่มีความหมายว่า “คน”

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยมีภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ถึงกว่า 70 กลุ่ม (Suwilai, 2006 และ สุวิไลและคณะ, 2547) ภาษาพูดของแต่ละกลุ่มจัดอยู่ในตระกูลภาษาใหญ่ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงเชื้อสายได้ 5 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลไท (Tai-Kadai) จำนวน 24 กลุ่ม, ตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) 23 กลุ่ม, ตระกูลออสโตรเนเซียน (Austronesian) 3 กลุ่ม, ตระกูลจีน-ธิเบต (Tibeto-Burman) 21 กลุ่ม และตระกูลม้ง-เมี่ยน (Hmong-Mien) 2 กลุ่ม แต่ละภาษามีสถานภาพทางสังคมหรือมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่นภูมิภาค และระดับชุมชน โดยมีภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนในโรงเรียนและสื่อสารมวลชน ที่ใช้เชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์ภาษาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน 

เผยแพร่
วันที่สร้าง
19 กันยายน 2567
แก้ไขล่าสุดเมื่อ
19 กันยายน 2567